Last updated: 21 ต.ค. 2565 | 1166 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังคาเมทัลชีทถือเป็นหลังคาที่ติดตั้งง่าย เร็ว และไม่ค่อยมีปัญหาในการทำงาน แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ในการติดตั้งได้ หากมีการทำความเข้าใจในกระบวนการและเพิ่มความระมัดระวังในบางจุด ก็จะช่วยให้โครงหลังคาเมทัลชีทของเราใช้งานได้อย่างคุ้มค่าเต็มประสิทธิภาพ และไม่ต้องกังวลกับปัญหาเรื่องหลังคาในภายหลัง
วิธีการติดตั้งแผ่นหลังคาเมทัลชีท
เช็กฉากโครงหลังคาเมทัลชีท ทำกำหนดระยะชายรางน้ำที่แผ่นแรก หรือขึงเส้นเอ็นตามแนวชายล่างไปตามแนวแปเพื่อเป็นแนวสำหรับติดตั้งแผ่นหลังคาเมทัลชีทให้อยู่ในแนวฉากและเรียงเป็นแนวเดียวกันอย่างสวยงาม
ติดตั้งหลังคาเมทัลชีทแผ่นแรกโดยเริ่มวางจากขอบล่างและขอบด้านข้างของชายหน้าจั่ว โดยให้ลอนตัวเมียอยู่ติดหน้าจั่ว เช็คปลายแผ่นให้ได้ระยะและแนวตามที่กำหนด แล้วยิงสกรูสั้นที่ท้องลอนเพื่อยึดแผ่นแรกกับแป จากนั้นจะใช้สกรูยาวยิงทุกสันลอนของแปปลายและแปบน ส่วนแปกลางให้ยึดสกรูลอนเว้นลอน
วางแผ่นถัดไปโดยให้ลอนตัวเมียทับลอนตัวผู้ของแผ่นแรก วางต่อซ้อนกันให้ได้แนว ใช้คีมหนีบบริเวณที่ซ้อนทับแผ่นเพื่อความแน่นหนาในการยึดสกรู ยิงสกรูบริเวณสันลอนที่ทับกันทุกสันลอน ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ใช้หลักการเดียวกับที่ได้กล่าวไปแล้ว
ติดตั้งเมทัลชีทแผ่นอื่นๆ ต่อกันไปจนสิ้นสุดที่ปลายอีกด้านหนึ่งของหลังคา โดยตรวจเช็คแนวระดับหลังคาให้อยู่ในระดับตามที่กำหนดไว้
ติดตั้งแผ่นครอบข้างทุกด้าน โดยยิงสกรูทุกระยะ 50 ซม. หากต้องมีการต่อแผ่น ให้วางแผ่นที่ 2 ซ้อนทับกับแผ่นแรก โดยต้องวางซ้อนให้มีระยะซ้อนทับอย่างน้อย 10-15 ซม. แล้วยึดสกรูบริเวณที่ซ้อนทับ
ติดตั้งแผ่นครอบจั่วด้านบน ยิงสกรูที่สันลอนทุกสัน พร้อมตัดแต่งแผ่นครอบจั่วด้วยกรรไกรตัดเหล็กให้แผ่นครอบจั่วมีรูปทรงเดียวกันกับสันลอน หลังจากนั้นทำการเก็บงานให้มีความเรียบร้อยและสวยงาม และควรดัดปลายแผ่นบนเพื่อป้องกันน้ำไหลย้อนที่ทุกๆท้องลอน
ติดตั้งแผ่นปิดครอบโดยทำความสะอาดแผ่นบริเวณที่จะซีลซิลิโคนให้สะอาดทั้ง 2 ส่วน ฉีดซิลิโคนตามแนวซ้อนทับให้ทั่วทั้งแผ่นด้านล่างและแผ่นด้านบน แล้วยึดสกรูบริเวณซ้อนทับ
ข้อควรระวังในการติดตั้งหลังคาเมทัลชีท
เลือกวัสดุที่ได้มาตรฐานมาใช้งาน
จุดเริ่มต้นของงานที่ดีเริ่มที่วัสดุ การทำหลังคาควรใช้แผ่นเมทัลชีทเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี ความหนาตั้งแต่ 0.40 มม. ขึ้นไป และได้รับการรับรองมาตรฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อให้มั่นใจว่าแผ่นหลังคาที่ต้องเจอกับสภาพอากาศทั้ง แดด ลม ฝน จะมีคุณภาพและความแข็งแรงที่ดีพอ โดยปัจจุบันมีการพัฒนาสีเคลือบแผ่นเมทัลชีทที่ให้สีสันสวยงามยาวนานขึ้น และยังเคลือบสารสะท้อนความร้อนคุณภาพสูงที่ช่วยให้สามารถเลือกใช้หลังคาสีอ่อนหรือเข้มก็ได้ นอกจากนี้ในส่วนของสกรูยึดแผ่นควรใช้สกรูที่ได้มาตรฐานและมีแหวนยางรองสกรูกันการรั่วซึม
วางระยะแปให้เหมาะสม
การกำหนดระยะแปในงานเมทัลชีทขึ้นอยู่กับความหนาของแผ่นเมทัลชีท และรูปลอน เพราะถ้าวางระยะแปห่างเกินไปจะทำให้แผ่นเมทัลชีทที่พาดอยู่บนแปมีโอกาสแอ่นตัวลงมาหรือที่เรียกว่าตกท้องช้างได้ โดยทั่วไปจะกำหนดระยะแปตามความหนา ดังนี้
ความหนา 0.30 มม. แนะนำให้วางแปห่างไม่เกิน 1 เมตร เนื่องจากแผ่นเมทัลชีทมีความบาง จะมีการอ่อนตัวได้มากกว่า ระยะแปที่รองรับจึงควรมีความถี่มากพอ
ความหนา 0.35 – 0.47 มม. แนะนำให้วางแประยะไม่เกิน 1.2 เมตร
ความหนา 0.47 มม. ขึ้นไป สามารถวางระยะแปได้ถึง 1.5 เมตร เนื่องจากแผ่นมีความหนา และแข็งแรงสูง
ซึ่งในการคำนวณระยะแปให้เหมาะสมกับโครงสร้างอาคารนั้น สามารถปรึกษาวิศวกรและช่างผู้ติดตั้งได้
สโลปหลังคาน้อยกว่าค่ามาตรฐานที่ทำได้
การนำแผ่นเมทัลชีทมาทำหลังคาที่มีลักษณะแบนมากๆ หรือทำหลังคาซ่อน องศาที่ใช้ในการติดตั้งมักต้องการองศาที่น้อยที่สุด ดังนั้นจึงต้องจำไว้เสมอว่าเมทัลชีทรุ่นทั่วไปที่ติดตั้งโดยการยิงสกรูนั้นรองรับความชันได้ต่ำสุดที่ 5 องศา ส่วนความชันที่ 3 องศานั้นจะต้องเป็นเมทัลชีทรุ่นพิเศษที่ติดตั้งด้วยระบบคลิปล๊อกเท่านั้น หากทำองศาหลังคาต่ำกว่าที่กำหนดไว้จะเกิดปัญหาน้ำไหลย้อนและการรั่วซึมบริเวณช่วงรอยต่อของแผ่นได้
การติดตั้งหลังคาเมทัลชีทด้วยสกรูและการยึดติด
เมทัลชีทระบบคลิปล๊อกที่ติดตั้งอย่างถูกต้องจะไม่มีปัญหาเรื่องการรั่วซึมจากจุดยึดเพราะไม่ต้องมีการเจาะแผ่น ส่วนเมทัลชีททั่วไปนั้นติดตั้งโดยการยึดด้วยสกรูติดกับแป สิ่งที่ควรระมัดระวังคือต้องใช้แหวนรองยางกันน้ำใต้หัวสกรูทุกจุดเพื่อกันน้ำไหลซึมเข้าตามรอยเจาะสกรู ในการยึดสกรูควรยึดให้พอดี ไม่แน่นหรือหลวมเกินไป และควรตีเส้นตามแนวกลางแปเป็นแนวยึดสกรูบนแผ่นเพื่อให้งานที่ออกมาดูเรียบร้อยและป้องกันการเกิดปัญหาเจาะสกรูพลาดตำแหน่งแป
ความปลอดภัยในการทำงาน
เพื่อความปลอดภัย ระหว่างการติดตั้งผู้ติดตั้งไม่ควรเหยียบที่สันลอน ควรเหยียบที่บริเวณท้องลอนที่พาดขนานอยู่บนแนวแป สวมถุงมือที่แห้งและสะอาดทุกครั้งเมื่อทำการติดตั้งเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการเกิดรอยบนแผ่นเมทัลชีท
การเก็บทำความสะอาดหลังจบงาน
หลังจากจบงานควรทำความสะอาดและเก็บเศษชิ้นส่วนโลหะหรือสกรูต่างๆ ที่ตกค้างอยู่บนหลังคาออกไปให้เรียบร้อย เพราะเศษโลหะเหล่านี้เมื่อโดนแดดโดนฝนก็มีโอกาสเกิดสนิมซึ่งจะส่งผลต่อแผ่นหลังคาเมทัลชีทได้โดยตรง