คุณสมบัติในการดูดความร้อนและความเย็นได้ดี ทำให้ช่วงกลางวันที่โดนแดดโดยตรงใต้หลังคาเมทัลชีทอาจจะร้อนไปบ้าง โดยทั่วไปจึงมีการบุฉนวนใต้แผ่นหลังเมทัลชีทเพื่อสะท้อนความร้อน และช่วยดูดซับความร้อนให้ลดลงในระดับหนึ่งก่อนที่จะผ่านลงมาสู่พื้นที่ด้านล่าง ซึ่งแผ่นฉนวนกันความร้อนในปัจจุบันก็มีหลายประเภทหลายราคาให้เลือกใช้ ก่อนการตัดสินใจเราจึงควรทำความรู้จักฉนวนแต่ละประเภทกันก่อน
เมทัลชีทบุฉนวน คืออะไร?
แผ่นเมทัลชีทบุฉนวน ก็คือการนำวัสดุฉนวนมาติดตั้งใต้แผ่นเมทัลชีทเพื่อช่วยลดความร้อนและเสียงที่ผ่านลงมา ซึ่งวัสดุฉนวนใช้บุแผ่นเมทัลชีทมีหลายชนิด โดยทั่วไปจะมีคุณสมบัติ ความหนา และราคา ที่แปรผันตามกัน คือยิ่งมีคุณภาพก็จะยิ่งมีความหนาและราคาสูง การบุฉนวนแบ่งตามลักษณะการบุได้ 4 แบบ คือ การบุฉนวนใต้แผ่นโดยมีโครงหรือแผ่นวัสดุเป็นตัวยึด, การบุฉนวนโดยการติดไว้ใต้แผ่นเมทัลชีท, การบุฉนวนแบบแผ่นแซนวิช ใช้แผ่นโฟมกันความร้อนที่มีความหนาสอดใส้ระหว่างแผ่นเมทัลชีทและแผ่นวัสดุที่ประกบด้านบนและด้านล่าง และการบุฉนวนแบบโฟมพ่นใต้หลังคาตัวอย่างฉนวนกันความร้อน- ฉนวนใยแก้ว (Fiber Glass) ฉนวนใยแก้ว สำหรับบุฉนวนหลังคาเมทัลชีท ลักษณะของฉนวนใยแก้วเป็นแผ่นหนาหุ้มด้วยแผ่นฟอยล์ ภายในประกอบไปด้วยใยแก้วประสานกันเป็นช่องโพรงอากาศทำหน้าที่เก็บความร้อนไว้ภายใน หลังคาเมทัลชีทบุฉนวนใยแก้ว ช่วยดูดซับเสียง ไม่ติดไฟ ติดตั้งง่าย มีทั้งแบบม้วนและแบบแผ่น มีความหนาตั้งแต่ 1.5-50 มม. ติดตั้งเหนือผ้าเพดานใต้หลังคาเมทัลชีท โดยจะกรุอยู่ระหว่างช่องว่างของโครงคร่าวและฝ้าเพดาน
- ฉนวนใยหิน (Rock Wool) ฉนวนใยหิน ที่ใช้สำหรับบุฉนวนหลังคาเมทัลชีท ทำมาจากเส้นใยหินบะซอลท์ที่เกิดจากกระบวนการธรรมชาติของภูเขาไฟ มีค่าการนำความร้อนต่ำจึงกันความร้อนจากหลังคาได้ดี ไม่ติดไฟและไม่ลามไฟ ดูดซับเสียงได้ดี และไม่ดูดซับความชื้น ความหนาตั้งแต่ 50-200 มม. มีทั้งชนิดแผ่น ชนิดม้วน และชนิดท่อขึ้นรูป วิธีการติดตั้งจะใช้ผืนตะแกรงเหล็กยึดใต้แปหลังคาให้ทั่ว ปูแผ่นฉนวนเหนือแปแล้วปิดด้วยแผ่นเมทัลชีท
- PE (Polyethylene Foam) บ้านส่วนใหญ่นิยมใช้ PE โฟม สำหรับบุฉนวนหลังคาเมทัลชีท เพราะราคาที่ไม่สูงมากนัก ลักษณะเป็นแผ่นบางและเหนียว ปิดผิวด้วยแผ่นฟอยล์ มีขนาดความหนาที่ 3, 5 และ 10 มม. หลังคาเมทัลชีทบุฉนวน PE นั้น ช่วยป้องกันความร้อนได้ดี มีน้ำหนักเบา เหนียว และทนต่อแรงกระแทก สามารถสั่งแผ่นเมทัลชีทแบบรีดแผ่น PE ติดลอนมาใช้ได้เลย แต่ในกรณีติดตั้งหลังจากทำหลังคาเสร็จแล้ว ใช้วิธีติดใต้แป ซึ่งอาจจะต้องเสริมโครงสร้างเพื่อป้องกันแผ่น PE ย้วยตกท้องช้าง
- พียูโฟม (Polyurethane Foam) PU โฟมเกิดจากการคิดค้นเทคโนโลยีการฉีดโฟมเพื่อป้องกันความร้อนและได้รับการยอมรับว่ามีค่าการส่งผ่านความร้อนต่ำที่สุด หลังคาเมทัลชีทที่บุฉนวน PU นั้น มีคุณสมบัติป้องกันน้ำและความชื้น กันเสียงได้ดี แผ่นหลังคาเมทัลชีทบุฉนวน PU โฟมสำเร็จรูปจากโรงงานเรียกว่าหลังคาแซนวิช ความหนาแผ่น PU มีขนาด 15, 25 และ 50มม. โดยมีการนำแผ่นเมทัลชีทประกบฉนวน PU ทั้ง 2 ด้าน หรือจะเป็นแผ่นเมทัลชีทติดฉนวน PU และด้านล่างติดแผ่นฟอยล์เอาไว้ โดยลูกค้าสามารถสั่งได้ตามต้องการ นอกจากนี้ยังมีแบบพ่น คือเป็นฉนวนโฟมที่ใช้พ่นปิดด้านใต้หรือด้านบนของหลังคาเมทัลชีท แล้วเก็บความเรียบร้อยด้วยการพ่นสีเซรามิกสะท้อนความร้อนทับ ใช้ในกรณีที่เป็นการเพิ่มฉนวนให้กับหลังคาเก่าหรือหลังคาที่มีการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว
- EPS (Polystyrene Foam) EPS โฟม ใช้บุฉนวนหลังคาเมทัลชีทสามารถกันความร้อนและเก็บความเย็นได้ดี ลักษณะคล้ายแผ่นโฟมสีขาวที่เราคุ้นเคยกัน มีคุณสมบัติเรื่องการกันเสียงดีกว่า PU โฟม น้ำหนักเบาทำให้เคลื่อนย้ายสะดวก ติดตั้งได้รวดเร็ว ช่วยป้องกันการกระแทกได้เป็นอย่างดี ความหนาสำหรับทำหลังคาจะใช้ความหนาที่ 1-4 นิ้ว สามารถสั่งแบบสำเร็จรูปอัดโฟม EPS ติดกับแผ่นเมทัลชีทในรูปแบบผนังแซนวิชมาใช้งานก็ได้ หรือหากติดตั้งภายหลัง ใช้วิธีติดใต้โครงสร้างหลังคาโดยยึดด้วยสกรูติดกับแป ปิดด้วยแผ่นฝ้า หรือถ้าไม่มีการทำฝ้าเพิ่มใช้วิธีการทาสีปิดผิว
ทำยังไงหากแผ่นฉนวนหลุดล่อน? โดยปกติแล้วแผ่นฉนวนจะไม่เสื่อมสภาพตลอดอายุการใช้งานหากติดตั้งอย่างถูกต้อง ฉนวนกันความร้อนที่ติดตั้งมากับหลังคาเมทัลชีทแล้วเกิดปัญหาฟอยล์หลุดออกร่วงลงมา ประมาณ 90% ของปัญหาที่พบ เกิดจากการเลือกติดตั้งฉนวนกันความร้อนที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น หลังคาโรงจอดรถที่เป็นอาคารโปร่ง ได้รับความร้อนและความชื้นจากอากาศโดยตรง อาจทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของกาวที่ติดฉนวนเร็วกว่าปกติ เมื่อกาวลอกออกจะส่งผลให้เกิดสนิมซึ่งอาจลุกลามไปยังแผ่นเมทัลชีทได้
‘ฉนวนกันความร้อน’ เป็นตัวช่วยสำหรับการป้องกันความร้อนที่ใช้กับบ้านแทบทุกหลัง จะใช้ฉนวนแบบไหนส่วนใหญ่เราก็ประมาณการจากงบประมาณที่มีเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเบื้องต้น เพราะวัสดุก่อสร้างอย่างฉนวนกันความร้อนไม่ใช่ของที่เราได้ใช้บ่อยๆ (ถ้าคุณไม่ได้ประกอบอาชีพในสายงานออกแบบ-ก่อสร้าง) ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเป็นระยะๆ เมื่อจะตัดสินใจเลือกใช้วัสดุตัวใดควรเช็กข้อมูลและราคาล่าสุดเพื่อตัดสินใจ เพราะวัสดุบางตัวที่เคยราคาต่างกันมาก เมื่อเวลาผ่านไปมีวัสดุชนิดใหม่ขึ้นมา ราคาก็อาจขยับลงมาใกล้เคียงกันได้ ซึ่งมันก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่คุณจะจ่ายเพิ่มอีกนิดหน่อยแต่ได้วัสดุที่มีประสิทธิภาพดีกว่าและมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น